เจาะกลยุทธ์คู่ฟัด ฮอนด้า-ยามาฮ่า

ตลาดรถจักรยานยนต์ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี เมื่อสองยักษ์ใหญ่ “ฮอนด้า-ยามาฮ่า” ส่งรถรุ่นใหม่เขย่าตลาด และนั่นเป็นเพียงแค่บทเริ่มต้นเท่านั้น เพราะระยะเวลาที่เหลือตลอดทั้งปี ย่อมดุเดือดมากกว่านี้แน่นอน จากการงัดกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ เพื่อชิงตลาดที่กำลังสดใส ส่วนจะมีอะไรบ้าง?... ขอล้วงลึกจากปากของ “ธีระพัฒน์ จิวะพงศ์” กรรมการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด และ “ประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด มาให้รับทราบกัน


- ภาพตลาดรถจักรยานยนต์?

ธีระพัฒน์ : ทิศทางตลาดเริ่มมีการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2010 นี้ โดยคาดว่าจะตลาดรวมจะโตขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10% หรือมียอดขายรวมที่ 1.68 ล้านคัน ซึ่งเป็นการประเมินจากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทย และการประมาณการของภาครัฐ ที่คาดอัตราเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 3-5%

ประพันธ์ : จากการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตของจีดีพีในปี 2010 นี้ จะอยู่ที่ประมาณ 3.3-5.3% ในขณะที่อัตราการเติบโตของจีดีพีในปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณลบ 3% ดังนั้นยามาฮ่าคาดการณ์ว่าตัวเลขของตลาดรวมในปีนี้ จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11% โดยตัวเลขของตลาดรวมอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน

- ปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบ?

ธีระพัฒน์ : สิ่งที่อาจจะส่งผลให้ตลาดชะลอตัว อยู่ที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงหรือไม่ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ

ประพันธ์ : ราคาน้ำมันของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และสภาวะความผันผวนทางการเมือง ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว จนกระทบต่อตลาดรถจักรยานยนต์

- เตรียมรับมืออย่างไร?

ธีระพัฒน์ : การเมืองคงไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ต้องการอยากให้เหตุการณ์สงบไม่รุนแรง ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ฮอนด้าได้มีการเตรียมรับมือมาก่อนแล้ว โดยการนำระบบหัวฉีด PGM-FI มาใช้เป็นรายแรก และตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป รถจักรยานยนต์ฮอนด้าจะเปลี่ยนมาใช้ระบบหัวฉีดหมดทุกรุ่น

ประพันธ์ : ไม่เพียงราคาน้ำมันแพง ยังมีเรื่องมาตรฐานไอเสียระดับ 6 (ยูโร3) ที่เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งรถยามาฮ่าทุกรุ่นผ่านมาตรฐานไอเสียดังกล่าวแล้ว และในปีนี้จะมีรุ่นหัวฉีดออกมา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันและมาตรฐานไอเสีย รวมถึงอนาคตที่จะปรับสู่ระดับ 7 คาดว่าจะใช้เวลา 4 ปี



ฮอนด้า เวฟ110 ไอ เอ.ที.


รถจักรยานยนต์รุ่นใหม่?

ธีระพัฒน์ : ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป ฮอนด้าได้แนะนำรถจักรยานยนต์ครอบครัว “ฮอนด้า เวฟ110 ไอ” แบบเกียอัตโนมัติ หรือเอ.ที.สู่ตลาดเป็นครั้งแรก เพื่อตอบสนองการขับขี่ที่ง่ายสะดวก และอย่างที่บอกในเดือนมีนาคมปีนี้รถฮอนด้าจะใช้ระบบหัวฉีด PGM-FI หมดทุกรุ่น พร้อมกันนี้ฮอนด้ากำลังจะยกเลิกการผลิตรถจักรยานยนต์ 3 รุ่น ได้แก่ ฮอนด้า เวฟ100, ฮอนด้า โซนิค และรุ่นดรีม ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปเช่นกัน โดยขณะนี้กำลังพิจารณานำรุ่นใหม่ที่ตรงกับตลาดมาทดแทน

ประพันธ์ : ล่าสุดยามาฮ่าได้เปิดตัว “มิโอ 125 ใหม่” รถจักรยานยนต์เครื่องออโตเมติก CVT 125 ซีซีสู่ตลาด และเป็นครั้งแรกของวงการรถจักรยานยต์ในเมืองไทย ที่ได้รับเกียรติจากแชมป์โลก และรองแชมป์โลกโมโตจีพีปีล่าสุด “วาเลนติโน่ รอสซี่” และ “ฮอร์แก้ ลอเรนโซ่” มาร่วมเปิดตัวในครั้งนี้ พร้อมกับยังเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ใหม่ 3 นักเตะซูเปอร์สตาร์ “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย, “มุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา และ “โอ๊ต” ณัฐพร พันธุ์ฤทธิ์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับมีโอ 125 ใหม่ และปีนี้ก็จะมีรถจักรยานยนต์ระบบหัวฉีดแนะนำสู่ตลาดด้วย




มีโอ 125


กลยุทธ์ทางการตลาดในปีนี้?

ธีระพัฒน์ : ฮอนด้าคงไม่ได้มุ่งเน้นไปทางใดทางหนึ่ง ระหว่างสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง หรือมิวสิคมาร์เก็ตติ้ง แต่เรามองกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เพราะลูกค้ามีความหลากหลาย การพิจารณาจะใช้กลยุทธ์อะไร หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ จึงดูที่ตัวผลิตภัณฑ์ว่าอันไหนเหมาะสมกับอะไร

ประพันธ์ : ปัจจุบันแทบทุกยี่ห้อล้วนทำเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการตลาด รวมถึงการทำตลาดแบบมิวสิคมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้างความแตกต่าง ในปีนี้ยามาฮ่าจะใช้เน้นกลยุทธ์ “สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งจากการสำรวจลูกค้าต่างชื่นชอบกีฬาฟุตบอลมากที่สุด ยามาฮ่าจึงเข้าไปเน้นกิจกรรมตรงนี้

เป้าหมายการขายหรือแชร์?

ธีระพัฒน์ : ฮอนด้าตั้งเป้าการขายปีนี้ไว้ที่ 1.15 ล้านคัน ยังคงเป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง และการที่ส่วนแบ่งการตลาดหรือแชร์ลดลง เราไม่ได้มองตรงนั้นแต่ดูที่ยอดขายมากกว่า และมุ่งให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพรถ ความพึงพอใจ และการบริการลูกค้าเป็นหลัก แต่ยอมรับว่าแชร์ลดลงลง เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีรถประเภทใหม่อย่างรถเอ.ที. ประกอบกับแนวโน้มตลาดผู้บริโภคให้ความนิยมรถเอ.ที.มากขึ้น คาดจะเติบโตจาก 46.5% ในปี 2552 เป็น 54% ในปี 2553 ขณะที่ฮอนด้าเพิ่งจะมีไม่นาน แต่ปีนี้ถือว่ามีความพร้อมในส่วนผลิตภัณฑ์มาก รวมถึงการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีรถหัวฉีด จึงเชื่อว่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย และจะเห็นว่าเดือนมกราคาที่ผ่านมา ฮอนด้ามีแชร์ถึง 72%

ประพันธ์ : ยามาฮ่าตั้งเป้าการขายอยู่ที่ 4.8 แสนคัน มีอัตราการเติบโตถึง 12% โดยคาดว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาด เพิ่มขึ้นหรือใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ทำได้ 28% ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวเมื่อเทียบกับปี 2008 อันเป็นผลมาจากในภาคใต้และภาคเหนือที่มีแชร์เกิน 20% โดยเฉพาะภาคใต้ที่เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ยามาฮ่ามีแชร์ไม่ถึง 3% แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีความเชื่อมั่น และตอบรับแบรนด์ยามาฮ่ามากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในช่วงที่ผ่านมาดังจะเห็นได้จากการเป็นผู้นำในรถแบบเอ.ที. ที่มีส่วนแบ่งมากถึง 53% ในปีที่ผ่านมา รวมถึงปีนี้ที่จะเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าอย่างแตกต่าง ผ่านเครือข่ายกรขาย บริการ และอะไหล่ รวมถึงการรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ พร้อมกับขยายลูกค้าใหม่


เพิ่มเติม http://www.mocyc.com/content/view.php?idcontent=186